วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

แหล่งการเรียนรู้..."อุทยานผีเสื้อและแมลง สวนรถไฟ"

 

ประวัติความเป็นมา
    สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่นิยมเรียกว่า สวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว่า 375 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ติดกับสวนสาธารณะอีก 2 สวน คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนจตุจักร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
   อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ หรือเรียกว่า สวนผีเสื้อกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  เป็นสถานที่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ บริเวณอุทยานประกอบด้วยลานกิจกรรม บริเวณจัดนิทรรศการ ห้องเพาะเลี้ยงอาหาร ห้องเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ลานชมวิว ลานแมลง ลานผีเสื้อ และลานลำพู ตัวอาคารส่วนที่เป็นกรงมีพื้นที่ 1,100 เมตร สร้างในลักษณะโดมขนาดใหญ่สูง 15 เมตร สามารถระบายอากาศได้เนื่องจากใช้วัสดุโปร่งในการก่อสร้าง บริเวณของอุทยานมีส่วนเชื่อมต่อกับสวนจตุจักรและสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นับเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้า วิจัย รวบรวม แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพันธุ์ผีเสื้อและแมลงและนกในเมือง วงจรชีวิต รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผีเสื้อและแมลง

ข้อมูลการเดินทาง
     สถานที่ตั้ง ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 โทร.02-2724844-5
     การเดินทาง
          รถโดยสารประจำทาง ต้องนั่งรถมาลงที่สวนจตุจักร แล้วเดินมายังสวนรถไฟ มีรถประจำทางสายที่ผ่าน คือ 3 8 26 27 28 29 34 38 39 44 52 59 77 96 104 108 112 134 136 138 145 502 503 509 510 512 513
          รถไฟฟ้า นั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีหมอชิตแล้วเดินมายังสวนรถไฟ หรือนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินมาขึ้นที่สถานีจตุจักร แล้วเดินมายังสวนรถไฟได้เช่นกัน
          รถยนต์ส่วนตัว สามารถเข้าทางด้านข้าง บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต โดยเสียค่าบำรุงจอดรถคันละ 10 บาท
     ข้อมูลทั่วไป                  
          เปิดทุกวัน เวลา 05.00-21.00 น.
          ค่าเช่าจักรยาน วันละ 20 บาท / คัน
          เรือพาย 30 บาท/ชม.

     อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ   ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เปิดให้บริการเที่ยวชม โดยไม่เสียค่าเข้าชม ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. (หยุดทุกวันจันทร์) 

แหล่งการเรียนรู้กับการเชื่อมโยงรายวิชาชีววิทยา  

       อุทยานสวนผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่รวบรวมข้อมูลที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ผีเสื้อ ถิ่นอาศัยของผีเสื้อแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงวัฎจักรวงจรชีวิตของผีเสื้อ เพราะผีเสื้อถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากผีเสื้อที่อยู่ในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกัดกินใบไม้ ไม่ให้มีหนาแน่นจนเกินไป ช่วยให้แสงแดดสอดส่องลงถึงพื้นด้านล่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีก และยังสามารถเป็นอาหารให้กับนก หรือสัตว์อื่นซึึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ นอกจากนี้ผีเสื้อยังทำหน้าที่ในการผสมเกสรให้กับดอกไม้โดยผีเสื้อได้ประโยชน์จากดอกไม้คือ น้ำหวาน ส่วนดอกไม้ก็ได้รับการผสมเกสรระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียทำให้เกิดความหลากหลายของสายพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้แหล่งการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถนำมาเชื่อมโยงกับรายวิชาชีววิทยาได้เป็นอย่างดีและถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีความงดงาม ทรงคุณค่า ที่ผู้เรียนสามารถมาสัมผัสและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ข้อเสนอแนะ

        1.ในอุทยานสวนผีเสื้อฯ ควรมีวิทยากรคอยให้ข้อมูลหรือให้ความรู้ เพื่อที่จะทำให้ผู้เข้าชมสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ จากสิ่งที่สนใจ
        2.ควรมีผู้ดูแลสอดส่องภายในตัวอาคารผีเสื้ออย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกัน ไม่ให้ผู้เข้าชมทำลายสิ่งที่จัดแสดงอยู่ในตัวอาคาร
        3.ควรมีการนำพันธุ์ผีเสื้อหรือแมลงที่มีความแปลกมาจัดแสดง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศด้วย

ภาพจากการศึกษาแหล่งการเรียนรู้
       


 
 สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ)
 
 
ภาพผีเสื้อบางส่วนที่อยู่ภายในอาคาร
 
 
ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย
 

                                                          เหมือนใบไม้มั้ยค่ะ ^o^

 

 






                                                  
                                                               ผีเสื้อเชิงลายธรรมดา





 
                                                     
                                                      ผีเสื้อใบไม้กำลังกินน้ำหวานอยู่ค่ะ

 
 
 
มุ่งหน้าสู่สวนผีเสื้อ 
 
 

                                                                 ขอบคุณค่ะ ^__^


แหล่งข้อมูล

        http://www.mochit.com/place/64
        http://www.ontotour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=342111&Ntype=4
        http://www.taklong.com/macro/show-macro.php?No=518495